วันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554


                ฐานข้อมูลผู้สูงอายุของสถาบันประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนี้รวบรวมข้อมูลผู้สูงอายุ (60ปีบริบูรณ์ขึ้นไป) ของประเทศไทย โดยใช้ข้อมูลจากสำมะโนประชากรประเทศไทย พ.ศ. 2503-2533 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และข้อมูลจากการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2533-2563 ของกองวางแผนทรัพยากรมนุษย์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
              วัตถุประสงค์ของฐานข้อมูลผู้สูงอายุนี้ มีวัตถุประสงค์จะรวบรวมข้อมูลตัวเลขเกี่ยวกับผู้สูงอายุของประเทศไทย ทั้งในระดับประเทศ ระดับภาค และระดับจังหวัด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 จนถึงปีสิ้นสุดของการคาดประมาณ เพื่อแสดงแนวโน้มของการเพิ่มประชากรสูงอายุ
              ข้อมูลจากฐานข้อมูลผู้สูงอายุนี้แสดงให้เห็นว่า ประชากรสูงอายุของประเทศไทยในอดีตช่วงปี พ.ศ. 2503-2533 มีแนวโน้มสูงขึ้นทั้งในแง่จำนวนและสัดส่วนต่อประชากรทั้งประเทศ ในปี พ.ศ. 2503 ประชากรสูงอายุมีจำนวน 1.2 ล้านคนหรือร้อยละ 4.6 ของประชากรทั้งประเทศ และมีเพิ่มขึ้นทุกช่วงเวลาต่อมา คือในปี พ.ศ. 2513 เพิ่มเป็น 1.9 ล้านคนหรือร้อยละ 5.0 ในปี พ.ศ. 2523 เพิ่มเป็น 2.5 ล้านคนหรือร้อยละ 5.5 และในปี พ.ศ. 2533 เพิ่มเป็นจำนวน 4.0 ล้านคนหรือร้อยละ 7.4 ของประชากรทั้งประเทศ ทั้งนี้ประชากรสูงอายุเพศหญิงเพิ่มจำนวนและสัดส่วนสูงขึ้นมากกว่าประชากรสูงอายุเพศชาย โดยที่อัตราร้อยละของประชากรสูงอายุเพศหญิงสูงกว่าประชากรสูงอายุเพศชายร้อยละ 0.8-1.0
              ในอนาคตจำนวนและสัดส่วนของประชากรสูงอายุประเทศไทย มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เนื่องมาจากอายุขัยเฉลี่ยของประชากรประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น สถิติข้อมูลจากการคาดประมาณประชากรแสดงให้เห็นว่า ในปี พ.ศ. 2538 ประชากรสูงอายุชายจะเพิ่มเป็น 4.8 ล้านคนหรือร้อยละ 8.11 ในปี พ.ศ. 2543 จะเพิ่มเป็น 5.7 ล้านคนหรือร้อยละ 9.19 ในปี พ.ศ. 2548 เพิ่มเป็น 6.6 ล้านคนหรือร้อยละ 10.2 และแนวโน้มในปีพ.ศ. 2553 ประชากรสูงอายุของประเทศไทยจะเพิ่มเป็น 7.6 ล้านคนหรือร้อยละ 11.4 ของประชากรทั้งหมด ทั้งนี้ประชากรสูงอายุเพศหญิงจะมีจำนวนและร้อยละที่สูงกว่าประชากรสูงอายุเพศชาย โดยมีความแตกต่างอยู่ร้อยละ 1.2-1.9
                ข้อมูลดังกล่าวนอกจากจะแสดงให้เห็นว่า จำนวนและอัตราร้อยละของประชากรสูงอายุของประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว ข้อมูลยังแสดงให้เห็นว่าค่าความแตกต่างระหว่างร้อยละของประชากรสูงอายุเพศหญิงและเพศชายเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย แสดงให้เห็นว่าประชากรสูงอายุเพศหญิง มีจำนวนและสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าประชากรสูงอายุเพศชาย ทั้งนี้เนื่องมาจากอายุขัยเฉลี่ยของประชากรเพศหญิงยืนยาวกว่าประชากรเพศชาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น